วชช.ระนอง ยกระดับผลิตภัณฑ์จักสาน

วชช.ระนอง ยกระดับผลิตภัณฑ์จักสาน


สิ่งของใช้งานแต่โบราณมักเป็นเครื่องจักสานจากการใช้มือสานต่อไม้ไผ่ให้เป็นของใช้แบบง่ายๆ…!

ปัจจุบันเมื่อถูกนำมาใช้สร้างรายได้ ช่างทำเครื่องจักสานจึงต้องพัฒนารูปแบบให้สวยงาม ตรงใจลูกค้า ที่ผ่านมา วิทยาลัยชุมชน จ.ระนอง จึงลงพื้นที่ศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดใช้วัสดุจากธรรมชาติ

โดย น.ส.นพรัตน์ พิมพ์สุข อาจารย์ประจำวิทยาลัยชุมชน จ.ระนอง หัวหน้ากลุ่มการทำวิจัย ได้ลงพื้นที่ผลิตภัณฑ์ชุมชน หมู่ที่ 10 บ้านคอกช้าง ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง มุ่งหวังทำให้ผลิตภัณฑ์อยู่ได้อย่างยั่งยืน

น.ส.นพรัตน์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นโครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากได้เล็งเห็นชุมชนแห่งนี้ทำเครื่องจักสานจากหวายนานกว่า 30 ปี ถึงแม้มีความชำนาญในการทำหลายๆรูปแบบ ทั้งตะกร้าหวาย เตียงหวาย เก้าอี้ต่างๆ

แต่ยังยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ จึงเข้าไปให้ความรู้ เพื่อช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ ให้มีมูลค่ายิ่งขึ้น ที่สำคัญยังเน้นการใช้หวายให้น้อยลง แต่นำวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ จ.ระนอง ใช้ประกอบเสริมทำเป็นชิ้นงาน เช่น ผ้าปาเต๊ะ

จากการศึกษาวิจัยกว่า 1 ปี เริ่มจากลงพื้นที่อบรม ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์เรื่องแบรนด์ ตราสินค้า เรื่องการตลาด หัวใจของสินค้าและการบริการ รวมทั้งการเตรียมสถานที่แหล่งผลิตไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว

ที่สำคัญต้องการให้เห็นภาพการออกแบบ การดีไซน์รูปแบบต่างๆ เมื่อชาวบ้านได้เห็น ได้เรียนรู้ จะทำให้เกิดความสนใจ และเห็นคุณค่าของที่อาจจะมีมูลค่าน้อย แต่สามารถนำมาพัฒนาให้มีราคาขึ้นได้

นอกจากนั้นยังให้เรียนรู้การขับเคลื่อนสินค้า ด้วยการออกแบบจากประสบการณ์ รูปแบบจากการผลิตสร้างคุณค่าใหม่ และใช้ศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องของชุมชน ผ่านอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน

ยิ่งไปกว่านั้นในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ต้องให้เชื่อมโยงกับเส้นทางหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ตามโครงการของกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชาวชุมชนต่างๆ

หากช่วยกันผลักดันงานวิจัยชิ้นนี้ จะช่วยสร้างงานสร้างเงินและลดใช้วัสดุในธรรมชาติได้ในที่สุด…!